เมื่ออาหารลงไปสู่ท้อง ขั้นตอนต่อไปก็เป็นหน้าที่ของกระเพาะและระบบทางเดินอาหารในการย่อยและดูดซึมอาหารเพื่อไปใช้ในร่างกาย แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากกระเพาะมีแก๊สมาก จนบวมเป่งแล้วบิดตัว? อาการนี้ในสุนัขเรียกว่าโรคกระเพาะบิด และถือว่าเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตสุนัขแม้จะเกิดขึ้นอย่างไม่รุนแรงก็ตาม เจ้าของน้องหมาทุกคนควรเรียนรู้อาการนี้ไว้ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือมีญาติของน้องหมาที่เคยเป็นโรคนี้ เพื่อให้ช่วยชีวิตน้องหมาสุดรักได้ทันท่วงที
โรคกระเพาะบิดในสุนัขคืออะไร?
โรคกระเพาะบิด หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน (Gastric Dilatation Volvulus – GDV) เป็นโรคด้านระบบทางเดินอาหารที่เกิดขึ้นได้กับสุนัขทุกตัว โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ หรือมีประวัติญาติเป็นโรคนี้ สุนัขจะมีอาการท้องกางขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากแก๊สในกระเพาะ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นจะไปกดบริเวณกะบังลมและระบบทางเดินหายใจ ทำให้น้องหมาหายใจได้ลำบากมากขึ้น เลือดไปกองอยู่บริเวณด้านหลังของร่างกาย หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้เหมือนเดิม ซึ่งเมื่อกระเพาะขยายมาก ๆ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการกระเพาะหมุน โดยอาจหมุน 90° ไปจนถึง 360° เลยทีเดียว นี่จะทำให้ม้ามกับตับอ่อนบิดตามไปด้วยจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้เลย จากนั้นตับอ่อนก็เริ่มปล่อยฮอร์โมนที่เป็นพิษออกมา หนึ่งในฮอร์โมนเหล่านั้นคือตัวที่จะไปหยุดการเต้นของหัวใจ สุนัขอาจช็อกเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเจ้าของพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันที ซึ่งหากทำการศึกษาอาการไว้ล่วงหน้า เจ้าของจะช่วยให้สุนัขมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
9 สาเหตุของโรคกระเพาะบิดในสุนัข
ปัจจุบันสาเหตุของโรคกระเพาะบิดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. สายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะบิด
สุนัขที่มีช่วงหน้าอกใหญ่ลึก เป็นพันธุ์ที่มีโอกาสเกิดโรคกระเพาะบิดได้มากที่สุด ดังนี้
- เกรทเดน
- คอลลี่
- เยอรมันเชพเพิร์ด
- ไวมาราเนอร์
- โดเบอร์แมน
- เซนท์เบอร์นาร์ด
- ไอริช เซ็ตเตอร์
- ไอริช วูล์ฟฮาวด์
- กอร์ดอน เซ็ตเตอร์
- บลัดฮาวด์
- บาวเซ็ตต์ ฮาวด์
- เกรย์ฮาวด์
- อะกิตะ อินุ
- นิวฟาวด์แลนด์
- ร็อตไวเลอร์
โดยสุนัขพันธุ์ผสมก็มีโอกาสเป็นโรคกระเพาะบิดได้ 6.0% – 15.7% ของสุนัขที่เป็นโรคกระเพาะบิดจะเป็นสุนัขพันธุ์ผสม
2. เพศของสุนัข
มีโอกาสเกิดโรคกระเพาะบิดในสุนัขเพศผู้มากกว่าสุนัขเพศเมียถึง 2 เท่า แต่การทำหมันจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้
3. สุนัขอายุมาก
สุนัขที่มีอายุมากกว่า 7 ปีนั้น มีโอกาสเป็นโรคกระเพาะบิดมากกว่าสุนัขอายุ 2-4 ปีถึงสองเท่า
4. สุนัขที่มีน้ำหนักตัวมาก
น้ำหนักก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค โดยพบว่าสุนัขที่มีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัม จะมีโอกาสเป็นโรคกระเพาะบิดมากกว่าตัวที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม
5. การออกกำลังกายหลังกินข้าว
การออกกำลังกาย วิ่งเล่น หรือนั่งรถหลังกินข้าวทันที จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการโรคกระเพาะบิดในสุนัขได้
6. กินเร็วเกินไป หรือได้กินข้าวแค่วันละมื้อ
อีกปัจจัยเสี่ยงโรคกระเพาะบิดคือการกินอาหารที่เร็วเกินไป ไม่ว่าจะเป็นนิสัย หรือเพราะได้กินข้าวเพียงวันละมื้อ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการกลืนอากาศลงไปขณะกินด้วย หากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเจ้าของควรเปลี่ยนมาเป็นการให้อาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อในแต่ละวัน และเพิ่มสัดส่วนของอาหารเม็ดและอาหารเปียก หรืออาจลองใช้ชามฝึกกินช้า ซึ่งจะช่วยลดการสำลักได้ด้วย ทั้งนี้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับสุนัขในแต่ละวัยก็แตกต่างกันออกไป
7. กินน้ำเยอะเกินไป
การดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างรวดเร็วนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงโรคกระเพาะบิด เปลี่ยนมาให้น้องหมากินน้ำน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งแทน
8. สุนัขที่ตื่นเต้นหรือขี้กังวล
มักพบอาการกระเพาะบิดในสุนัขที่มีความตื่นเต้นหรือกังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อสุนัขเครียด กังวล กระเพาะอาหารจะบีบตัวน้อยลง และไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค
9. มีญาติที่เคยเป็นโรคกระเพาะบิด
หากน้องหมามีญาติพี่น้องที่เคยมีอาการโรคกระเพาะบิดให้ทำการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และงดกิจกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้ ที่สำคัญคือหากทราบว่าสุนัขมีอาการนี้ก็ไม่ควรนำมาทำเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ในรุ่นลูก
วิธีสังเกตอาการโรคกระเพาะบิดในสุนัข
อาการของโรคกระเพาะบิดจะเกิดเมื่อท้องบวมเป่งแล้วบิดตัว ทำให้ในกระเพาะมีแก๊สอยู่เยอะจนกลายเป็นอาการที่อันตรายถึงชีวิตได้ โดยจะสังเกตได้จากอาการดังนี้
- ช่องท้องของสุนัขขยายใหญ่ผิดปกติ
- ทำเสียงแหวะ โดยที่ไม่อาเจียนออกมา หรืออาเจียนเป็นฟองขาว
- โก่งตัว
- หายใจถี่
- น้ำลายไหลผิดปกติ
- กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
- มองดูท้องตลอด
- สุนัขร้องครวญครางเมื่อสัมผัสโดนท้อง
- เมื่อตีที่ท้องของสุนัขเบา ๆ มีเสียงคล้ายตีกลอง
- เหงือกสีซีด
- ช็อก
โดยสุนัขจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติและชีพจรอ่อนลงเรื่อย ๆ ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังมีอาการ และจะหอบ ท้องบวมเป่ง อ่อนแรงจนนอนหมอบไปกับพื้น ซึ่งวิธีช่วยชีวิตคือการผ่าตัดและหมุนกระเพาะกลับคืน แต่ก็มีโอกาสที่สุนัขจะเสียชีวิตได้ ทางที่ดีคือให้นำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี หากน้องหมามีอาการบางข้อ แต่ดูแล้วยังไม่เข้าข่ายโรคกระเพาะบิด อาจเป็นอาการอื่น ๆ ลองมาทำความรู้จักกับอาการป่วยของสุนัขที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
วิธีวินิจฉัยโรคกระเพาะบิดในสุนัข
หากสัตวแพทย์สงสัยว่าสุนัขกำลังเผชิญกับอาการกระเพาะบิด จะมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อความแน่ใจดังนี้
ตรวจเลือดสุนัข
สัตวแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เกลือแร่ และตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ นี่จะทำให้สัตวแพทย์ได้รู้ว่าน้องหมากำลังเผชิญกับอาการอะไรกันแน่ เนื่องจากมีโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะบิดได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจแก๊สในเลือดที่ทำให้ทราบถึง pH ที่บอกสภาวะของกรดและเบสในร่างกาย และ pO2 ที่บอกระดับก๊าซออกซิเจนในเลือดเพื่อดูความเสียหายของระบบทางเดินหายใจ
เอกซเรย์ หรือสแกนดูกระเพาะ
เพื่อดูว่ากระเพาะกำลังขยาย หรือบิดตัวอยู่หรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่น ๆ ตามที่ศัลยแพทย์แนะนำ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีนี้ทำเพื่อประเมินอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมักเกิดในระยะหลังของโรคนี้
การรักษาโรคกระเพาะบิดในสุนัข
หลังจากวินิจฉัยโรคและทราบความรุนแรงของอาการแล้ว สัตวแพทย์จะทำการรักษาดังนี้
ให้ยา น้ำเกลือและออกซิเจน
เมื่อสุนัขมีอาการกระเพาะบิด มักจะเกิดภาวะช็อก และความดันโลหิตต่ำในเกณฑ์ที่อันตรายถึงชีวิต การให้ยา น้ำเกลือและออกซิเจนจะช่วยเพิ่มความดันโลหิตของสุนัข รวมไปถึงการได้รับยาแก้ปวดจะช่วยให้น้องหมาเจ็บปวดน้อยลง
ระบายแก๊สออกจากกระเพาะ
ก่อนที่จะทำการผ่าตัด สัตวแพทย์จะต้องหาทางระบายแก๊สบางส่วนออกมาจากกระเพาะให้ได้ โดยจะมีการสอดท่อลงไปทางหลอดอาหารเพื่อระบายลมและน้ำออกมา รวมไปถึงอาจมีการล้างท้องเพื่อนำอาหารที่ค้างอยู่ออกมาจากกระเพาะให้หมด
การผ่าตัดรักษาโรคกระเพาะบิด
สัตวแพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อบิดกระเพาะกลับ และตรวจสอบแผลหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระเพาะ รวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับม้ามและตับอ่อน ซึ่งอยู่ใกล้กระเพาะและอาจโดนบิดไปด้วย หากเสียหายมากคุณหมอจะผ่าตัดออก สำหรับขั้นตอนนี้ คุณหมออาจทำการเย็บกระเพาะกลับเข้าที่เพื่อลดโอกาสเกิดซ้ำสอง หรือที่เรียกว่าเย็บติดกระเพาะอาหารและผนังช่องท้อง (Gastropexy)
การพักฟื้นหลังการผ่าตัดกระเพาะสุนัข
หลังการผ่าตัด สุนัขจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อตรวจเช็กอาการแทรกซ้อนหรืออาการติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงดูแลปัญหาเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะ น้องหมาจะสามารถกลับบ้านได้หลังจากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ แล้ว ซึ่งเมื่ออยู่บ้านจะต้องงดเว้นการออกกำลังกายเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แทน โดยเจ้าของจะต้องดูแลสุนัขอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเบื่ออาหาร, หมดแรง, อาเจียน, ท้องบวม ให้นำไปพบสัตวแพทย์ทันที
การุณยฆาตสุนัข
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าโรคกระเพาะบิดเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต ดังนั้นหากอาการของสุนัขแย่มาก ๆ มีโรคร้ายอื่นร่วมด้วย หรือมีโอกาสรอดไม่มากนัก สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ทำการุณยฆาต เพื่อให้น้องหมาได้จากไปอย่างไม่ทรมาน
5 วิธีป้องกันโรคกระเพาะบิดในสุนัข
เนื่องจากยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของโรคกระเพาะบิด ทำให้ไม่มีวิธีการป้องกันโรคนี้อย่าง 100% แต่ก็สามารถป้องกันจากสาเหตุที่มักทำให้เกิดโรคกระเพาะบิด ดังนี้
สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะหากสุนัขของคุณเป็นสุนัขตัวผู้พันธุ์ใหญ่ สูง มีหน้าอกลึกและแคบ อย่างเช่นพันธุ์เกรทเดน, เซนต์เบอร์นาร์ด ฯลฯ ให้สังเกตอาการท้องบวมอย่างใกล้ชิด และนำไปพบสัตวแพทย์ทันที ซึ่งหากสุนัขมีญาติพี่น้องมีประวัติกระเพาะบิด ให้ระวังเป็นพิเศษ และงดให้สุนัขเป็นพ่อพันธุ์
ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์
ปัจจุบันก็ยังสรุปถึงอาหารที่เป็นสาเหตุโรคกระเพาะบิดไม่ได้ แต่สุนัขที่กินอาหารที่มีถั่วเหลือง น้ำมัน ไขมัน เป็นส่วนผสมหลัก จะมีโอกาสกระเพาะบิดมากกว่าตัวอื่น ๆ ที่กินอาหารประเภทอื่น
อาหารสุนัขเกรดพรีเมียม JOMO ใช้โปรตีนหลักจากเนื้อแกะออสเตรเลีย โปรตีนสูงถึง 23% อุดมไปด้วยโอเมก้า 3&6 จากน้ำมันปลาแซลมอน อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์กับสุนัข เม็ดเล็กเพียง 8 มม ทานง่ายทุกสายพันธุ์ ให้น้องหมาสดใส แข็งแรงในทุกวัน สั่งซื้อวันนี้ส่งฟรีทั่วประเทศไทย
บังคับให้สุนัขกินช้าลง
สำหรับใครที่ให้อาหารสุนัขวันละครั้ง ให้เปลี่ยนมาให้เป็นวันละสองครั้ง เพื่อทำให้สุนัขกินช้าลง โดยสำหรับบ้านที่ให้กินสองมื้ออยู่แล้ว และสุนัขมีนิสัยกินเร็ว รีบกิน ให้เปลี่ยนมาให้ชามกินช้า หรืออาจวางหินก้อนใหญ่ไว้กลางชามข้าวเพื่อให้สุนัขกินช้าลง
ป้องกันไม่ให้สุนัขตื่นเต้นเกินไป
สุนัขที่มีอาการตื่นเต้นหรือขี้กังวลมักจะมีโอกาสเกิดโรคกระเพาะบิดได้ง่ายกว่าสุนัขทั่วไป ซึ่งอาการตื่นเต้นมักเกิดอาการในขณะกินข้าวพร้อมกับสุนัขตัวอื่น ดังนั้นควรแยกสุนัขออกจากกัน
เย็บติดกระเพาะอาหารและผนังช่องท้อง (Gastropexy)
สำหรับสุนัขที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะบิด มีญาติพี่น้องเคยเป็น หรือเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถทำการผ่าตัดเย็บติดกระเพาะอาหารและผนังช่องท้อง (Gastropexy) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยสามารถทำการผ่าตัดพร้อมกับการทำหมันได้เลย อย่างไรก็ดีอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน
สรุปเรื่องโรคกระเพาะบิดในสุนัข
โรคกระเพาะบิดเป็นโรคที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ แต่มักเกิดกับสุนัขที่มีช่วงอกใหญ่ เช่น เกรตเดน เยอรมันเชพเพิร์ด และเกรย์ฮาวด์ โดยมีปัจจัยอื่น ๆ เช่นเพศของสุนัข อายุของสุนัข น้ำหนักตัวของสุนัข การออกกำลังกายทันทีหลังกินข้าว กินเร็วเกินไป กินน้ำเยอะเกินไป มีนิสัยตื่นเต้นหรือขี้กังวล รวมไปถึงมีญาติที่ป่วยด้วยโรคกระเพาะบิด อาการหลัก ๆ คือช่องท้องของสุนัขจะขยายใหญ่ผิดปกติ และอาจมีการ อาเจียน หรือทำเสียงแหวะ น้ำลายไหลผิดปกติ กระสับกระส่าย ร้องครวญครางเมื่อสัมผัสโดนท้อง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไปจนถึงช็อกได้ เจ้าของจึงควรนำไปพบสัตวแพทย์ทันทีที่พบอาการดังกล่าว โดยคุณหมอจะทำการตรวจเลือด เอกซเรย์หรือสแกนเพื่อให้ชัวร์ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จากนั้นจะมีการให้ยา ยาแก้ปวดและน้ำเกลือ ระบายแก๊สออกจากกระเพาะ ก่อนทำการผ่าตัดและพักฟื้น หรือในกรณีที่ร้ายแรงอาจทำการการุณยฆาตสุนัข เพื่อไม่ให้ทรมานมากเกินไป สำหรับวิธีการป้องกันก็ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ จึงทำได้เพียงสังเกตอาการสุนัขอย่างใกล้ชิด สำหรับสุนัขที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้สุนัขกินช้าลง ป้องกันไม่ให้ตื่นเต้นเกินไป และในกลุ่มเสี่ยง อาจทำการเย็บติดกระเพาะอาหารและผนังช่องท้อง
ดูแลสุขภาพสุนัข ด้วยอาหารสุนัขเกรดพรีเมียมจาก JOMO เลือกสรรวัตถุดิบจากหัวใจ ใช้ส่วนผสมนำเข้าคุณภาพสูง มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ช่วยลดคราบน้ำตา กลิ่นตัวและอุจจาระ ใช้โปรตีนหลักจากเนื้อแกะออสเตรเลีย ให้น้องหมาสุขภาพดี อยู่เป็นดวงใจของเราไปนานๆ สั่งซื้ออาหารสุนัขเกรดพรีเมียม JOMO วันนี้ สั่งฟรีทั่วประเทศไทย คลิกเลย!
โรคกระเพาะบิดในสุนัขอาการเป็นอย่างไร?
เมื่อสุนัขเป็นโรคกระเพาะบิด อาจจะมีอาการช่องท้องของสุนัขจะขยายใหญ่ผิดปกติ และอาจมีการ อาเจียน หรือทำเสียงแหวะ น้ำลายไหลผิดปกติ กระสับกระส่าย ร้องครวญครางเมื่อสัมผัสโดนท้อง ไปจนถึงช็อกได้
โรคกระเพาะบิดรักษาได้ไหม?
โรคกระเพาะบิดรักษาได้ โดยการผ่าตัด แต่ต้องนำสุนัขมาพบสัตวแพทย์ทันทีที่พบอาการ มิฉะนั้นสุนัขอาจเสียชีวิตได้
สุนัขพันธุ์ไหนเสี่ยงโรคกระเพาะบิด?
สุนัขที่มีช่วงหน้าอกใหญ่อย่างเกรทเดน เยอรมันเชพเพิร์ด และเกรย์ฮาวด์ รวมไปถึงสุนัขที่มีญาติพี่น้องเคยเป็นโรคกระเพาะบิด จะมีความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะบิดสูง