สรุปทุกเรื่องดวงตาสุนัข ตาขุ่น เป็นฝ้าขาวทำยังไง? เป็นโรคตาไหม?

ดวงตาคือหนึ่งในประสาทสัมผัสที่สำคัญของการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือคน การที่ประสาทสัมผัสอย่างดวงตาต้องมัวหรือสูญเสียไปเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาได้มาก และในกรณีที่ตาขุ่น เป็นฝ้าขาว ก็อาจสร้างความเจ็บปวดให้สุนัขด้วย ดังนั้นเจ้าของต้องช่วยสังเกตดวงตาของน้องหมาสุดที่รักให้ดี ๆ หากมีอาการผิดปกติไม่ว่าจะตาขุ่นหรือเป็นฝ้าขาวควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ ซึ่งจะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร มาดูกันได้เลย

4 สาเหตุที่ทำให้สุนัขตาขุ่น เป็นฝ้าขาว

กรรมพันธุ์และการแก่ตัวลงของสุนัขเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการตาเป็นฝ้าขาวในสุนัข แต่ก็อาจเกิดได้จากโรคต่าง ๆ เช่นเดียวกัน หากพบควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดได้จากสาเหตุดังนี้

1. ปัญหาดวงตาเนื่องจากอายุที่มากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น ดวงตาของน้องหมาก็ไม่สามารถทำงานได้ดีดังเดิม ทำให้เกิดอาการอย่างเลนส์ตาขุ่น ที่ทำให้ดวงตาเป็นฝ้าขาว และอาจเป็นโรคต้อกระจกได้ด้วย

2. อาการบาดเจ็บที่ตา

อาการบาดเจ็บที่เกิดกับดวงตาอาจส่งผลให้โปรตีนในดวงตาทำงานผิดปกติ แล้วก่อตัวเป็นต้อกระจกได้ หรือสำหรับกรณีที่โดนสัตว์อื่นทำร้าย ก็อาจส่งผลให้เกิดแผลที่กระจกตา  

3. โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ 

โรคอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันสูง อาจส่งผลให้เกิดโรคต้อกระจกได้

4. กรรมพันธุ์โรคตา

สุนัขบางพันธุ์มีโอกาสในการเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตามากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ดังนี้

  • พันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก เช่นบอสตัน เทอร์เรีย เฟรนช์บูลด็อก, ชเนาเซอร์, พุดเดิ้ล, ค็อกเกอร์ สแปเนียล, ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์, ไซบีเรียน ฮัสกี้ เป็นต้น 
  • พันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกปฐมภูมิ (โรคทางกรรมพันธุ์) เช่น บีเกิ้ล ค็อกเกอร์ สแปเนียล เชาเชา รัสเซลเทอร์เรีย ไซบีเรียนฮัสกี้ เป็นต้น
  • พันธุ์ที่เสี่ยงต่อโรคตาแห้งคือยอร์คเชียร์ เทอร์เรียและปั๊ก
  • พันธุ์ที่มีกรรมพันธุ์โรคกระจกตาเสื่อมมากที่สุด คือเชทแลนด์ ชีพด็อก, แอร์รีเดล เทอร์เรีย, ค็อกเกอร์ สแปเนียล, คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล, ซามอนด์, ไวมาราเนอร์,​ บอสตัน เทอร์เรีย ชิวาว่า และดัชชุน

การรักษาโรคตาขุ่นในสุนัข

การรักษาอาการตาขุ่นในสุนัขขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น ดังนี้

การรักษาอาการเลนส์ตาขุ่น (Nuclear Sclerosis)

สำหรับอาการนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากนี้ไม่ได้สร้างปัญหาในระยะยาวมากนัก แต่ก็ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ถึงอาการต่าง ๆ และการดูแลดวงตาในสุนัขอายุมาก อย่างไรก็ดี มักพบว่าสุนัขที่มีอาการเลนส์ตาขุ่นอาจมีอาการต้อกระจกได้ในภายหลัง จึงจำเป็นต้องพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจเช็คว่าพบอาการต้อกระจกหรือยัง

การรักษาต้อกระจก (Cataracts)

สัตวแพทย์จะทำการตรวจดวงตาสุนัขด้วยการส่องไฟ รวมไปถึงตรวจเลือดเพื่อหาว่ามีอาการอื่น ๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ และทำการรักษาอาการนั้นด้วย เนื่องจากจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาในอนาคต ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาต้อกระจกนอกจากการผ่าตัด โดยจะช่วยให้การมองเห็นของน้องหมากลับเป็นปกติได้ ในการรักษาจะมีการเปลี่ยนเลนส์ตาเป็นพลาสติกหรืออะคริลิก สัตวแพทย์อาจทำการเปลี่ยนตาเพียงข้างเดียวหรือสองข้าง ขึ้นอยู่กับอาการ 

การรักษาต้อหิน (Glaucoma)

โรคต้อหินสามารถวินิจฉัยได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Tonometer โดยต้องตรวจว่าสุนัขกำลังเผชิญกับอาการในระยะไหน เนื่องจากมีวิธีการรักษาที่ต่างกันออกไป ซึ่งการวินิจฉัยควรเป็นไปอย่างแม่นยำ เพราะหากรักษาช้าอาจเสี่ยงต่อการเป็นต้อทั้งสองข้าง ในกรณีที่การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล จะมีการยิงเลเซอร์ การควักลูกตาออก การฝังเครื่องมือเพื่อระบายความดัน การฉีดยาปฏิชีวนะ และการรักษาเพื่อลดการสร้างน้ำในลูกตา สำหรับกรณีที่รุนแรงจะมีการผ่าตัดเพื่อหาสาเหตุ และทำให้น้องหมาสบายตามากขึ้น

การรักษาอาการตาแห้ง (Dry Eye)

สัตวแพทย์จะทำการตรวจตา และทำการวัดปริมาณการผลิตน้ำตา รวมไปถึงความชื้นในดวงตา ซึ่งการรักษาอาการตาแห้งนั้นจะใช้น้ำตาเทียมและยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ โดยอาจมีการผ่าตัดในกรณีที่รุนแรงมาก ๆ เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำตา อาการนี้สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้หากพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

การรักษาแผลที่กระจกตา (Corneal Ulcers)

สำหรับการวินิจฉัยแผลที่กระจกตา สัตวแพทย์จะใช้การย้อมสีตา และอาจนำตัวอย่างไปตรวจสอบ อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาหยอดตาเพื่อยับยั้งการติดเชื้อและเพื่อบรรเทาอาการปวด ในบางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัด เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติอย่างการหยีตาหรือเกาตาจึงรีบควรพาน้องหมาไปหาหมอทันที

การรักษาอาการม่านตาอักเสบ (Anterior Uveitis)

สัตวแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค อาจมีการให้ยาหยอดตา ยาป้ายตาและยากิน

การรักษาอาการกระจกตาเสื่อม (Corneal Dystrophy)

สัตวแพทย์จะใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีไฟส่องสว่างเพื่อระบุประเภทของอาการกระจกตาเสื่อมที่น้องหมาเป็น รวมไปถึงการย้อมสีดวงตาเพื่อตรวจโรค คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะแบบหยอดเพื่อรักษา อย่างไรก็ดีอาการตาขุ่นอาจยังเป็นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีไม่มีการรักษากระจกตาเสื่อมให้หายขาด แต่อาการนี้จะไม่ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น

ทำความรู้จักโรคที่ทำให้สุนัขตาเป็นฝ้าขาว

อาการตาเป็นฝ้าขาวในสุนัขเกิดได้จากหลายโรค หลายอาการมีความคล้ายคลึงกัน แต่สัตวแพทย์จะสามารถวินิจฉัยให้ได้ ดังนี้

เลนส์ตาขุ่น (Nuclear Sclerosis)

อาการนี้มักมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นในสุนัข โดยในเลนส์ตาจะพบฝ้าขาวขุ่นหรือสีฟ้า คล้ายกับต้อกระจก แต่อาการนี้มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการตาบอด แต่อาจมีผลต่อการมองระยะไกลได้ อาการนี้จะส่งผลต่อดวงตาทั้งสองข้างในเวลาเดียวกัน ซึ่งสัตวแพทย์จะแยกอาการนี้กับอาการต้อกระจกได้เมื่อมองผ่านเครื่องส่องดูตา 

ต้อกระจก (Cataracts)

สุนัขมีอาการต้อกระจกได้เหมือนมนุษย์ โดยจะมีลักษณะเป็นต้อสีขาวทึบซึ่งเกิดจากการความเสื่อมของโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเลนส์ตา โดยเมื่อโปรตีนทำงานผิดปกติเนื่องจากอายุที่มาก หรือจากอุบัติเหตุต่าง ๆ จะมาจับตัวเป็นก้อนจนเกิดต้อกระจกได้ โปรตีนพวกนี้จะมาบังเลนส์ ทำให้มองเห็นได้ยาก หรืออาจสูญเสียการมองเห็นได้เลย โดยอาการนี้สามารถนำไปสู่โรคต้อหินได้ด้วย จึงควรรักษาให้เร็วที่สุดที่เป็นไปได้

ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหินในสุนัขเกิดจากแรงดันในตาสุนัขที่เพิ่มมากขึ้น จนไปสร้างความเสียหายให้กับดวงตา อาการนี้สร้างความเจ็บปวดให้กับสุนัขเป็นอย่างมาก และนับเป็นอาการฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยต้อหินมีสองแบบ แบบแรกคือต้อหินที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือต้อหินลำปฐมภูมิ ซึ่งมักพบบ่อยในสุนัขบางพันธุ์ ส่วนต้อหินทุติยภูมิ มักพบจากการเป็นต้อกระจก โรคเลนส์ตาเลื่อน เป็นต้น ซึ่งสุนัขจะมีอาการตาแดงและระคายเคือง ตาปูดโปน มีจุดสีฟ้าหรือแดงในบริเวณที่ตาขุ่น มีน้ำตา ขี้ตา และอาจสูญเสียการมองเห็น แต่นี่จะสังเกตได้ยากเนื่องจากสุนัขจะใช้ตาข้างที่ยังดีในการมองเห็นได้ 

ตาแห้ง (Dry Eye)

อาการนี้เกิดจากการที่ร่างกายของสุนัขสร้างน้ำตาได้ไม่มากพอ น้ำตาเป็นสารหล่อลื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพตาที่ดี และทำให้ดวงตามีสารอาหารที่มากพอ เมื่อขาดน้ำตา จึงทำให้เกิดอาการระคายเคือง อาจเกิดแผลพุพอง และทำให้เกิดการฉีกขาดบริเวณดวงตาได้ ทำให้เกิดอาการตาขุ่นมัวได้ โดยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างมีขี้ตา ตาแดง ตาและเปลือกตาบวม ตาหยี กะพริบตาบ่อย ๆ ซึ่งอาการนี้มักเกิดจากปัญหาด้านโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Diseases) ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจเป็นไปตลอดทั้งชีวิต

อาการหมาตาแฉะ มีขี้ตา อาจบ่งบอกถึงโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับดวงตาสุนัขได้เช่นเดียวกัน

แผลที่กระจกตา (Corneal Ulcers)

แผลที่ดวงตาอาจเกิดจากตาแห้ง แผลจากการเกาตา หรือโดนสัตว์อื่นทำร้าย การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และสาเหตุอื่น ๆ เช่นเปลือกตาม้วนเข้าและขนตางอกเข้าสู่ดวงตา อาการเหล่านี้อาจทำให้ตาขุ่นมัวได้ เมื่ออาการหนักขึ้น อาจมีสีฟ้า แดง หรือฝ้าบนดวงตา อาการนี้อาจทำให้น้องหมาเจ็บปวด โดยอาจมีขี้ตาและหยีตาตลอดเวลา หากเกิดการติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากและเกิดแผลฉีกขาดได้

ม่านตาอักเสบ (Anterior Uveitis)

ม่านตาอักเสบอาจทำให้เกิดอาการตาขุ่นได้ โดยอาจเกิดจากบริเวณยูเวีย (uvea) หรือเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลูกตาประกอบด้วย ม่านตา (iris) เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (ciliary) และคอรอยด์ (choroid) ซึ่งการอักเสบอาจเกิดได้ในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วน อาการนี้อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้เลย อาการที่พบเช่นตาแดง มีขี้ตา หนีตา รูม่านตาผิดรูป ตาบวม น้ำตาไหลมากผิดปกติ ตาขุ่นมัว นี่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ รวมไปถึงปัญหาด้านโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง มะเร็ง อาการบาดเจ็บ โรคเกี่ยวกับการเผาผลาญ ปรสิต การติดเชื้อราและไวรัส 

กระจกตาเสื่อม (Corneal Dystrophy)

กระจกตาเสื่อมคืออาการที่ทำให้กระจกตากลายเป็นสีขาว ขุ่น อาการนี้เป็นอาการที่เกิดจากกรรมพันธุ์​ โดยแบ่งได้เป็น 3 ชนิดตามตำแหน่งที่เกิด ดังนี้

  • ชั้นหนังกำพร้า เมื่อเกิดที่ชั้นนี้ จะเกิดบริเวณด้านนอกสุดของกระจกตา อาการนี้จะทำให้ไม่สบายตา มักเกิดกับพันธุ์เชทแลนด์ ชีพด็อก
  • ชั้นเนื้อเยื่อหลัก เมื่อเกิดที่ชั้นนี้จะมีผลต่อชั้นกลางของกระจกตา พันธุ์ที่มักมีอาการนี้เช่นแอร์รีเดล เทอร์เรีย, ค็อกเกอร์ สแปเนียล, คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล, ซามอนด์ และ ไวมาราเนอร์
  • ชั้นเซลล์ผิวด้านใน เมื่อเกิดที่ชั้นนี้จะส่งผลต่อชั้นลึกสุดของกระจกตา สุนัขที่มีอาการนี้มักจะเป็นสุนัขวัยกลางคนหรือสุนัขแก่ อาการนี้อาจนำไปสู่แผลที่กระจกตาได้ พันธุ์ที่เสี่ยงต่ออาการนี้ได้แก่ บอสตัน เทอร์เรีย ชิวาว่า และดัชชุน
สุนัขสีน้ำตาลมองจ้องมาทางกล้อง
Photo by Ton Nettos on Unsplash

สรุปอาการสุนัขตาขุ่น ตาเป็นฝ้าขาว

ตาขุ่น ตาเป็นฝ้าขาว เป็นอาการหนึ่งที่ทำให้สุนัขเจ็บปวด สูญเสียการมองเห็นบางส่วน ไปจนถึงสูญเสียการมองเห็นถาวร ซึ่งมีสาเหตุคือปัญหาดวงตาจากอายุที่มากขึ้น อาการบาดเจ็บที่ตา ไม่ว่าจะเป็นการเกา หรือโดนทำร้าย โรคต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบเผาผลาญ และกรรมพันธุ์ที่สืบทอดมาในสุนัขบางพันธุ์ โดยหลัก ๆ มีโรคที่ทำให้น้องหมาตาขุ่น ตาเป็นฝ้าขาว คือ เลนส์ตาขุ่น ที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นในสุนัข โดยในเลนส์ตาจะพบฝ้าขาวขุ่นหรือสีฟ้า อาการนี้ไม่ทำให้ตาบอด แต่ส่งผลต่อการมองระยะไกล โดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ต้องตรวจเช็คอาการต้อกระจกอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาคือต้อกระจก เป็นต้อทึบที่เกิดจากความเสื่อมของโปรตีนในเลนส์ตามาจับตัวกัน ทำให้มองเห็นยากหรือสูญเสียการมองเห็น อาการนี้ต้องผ่าตัดเพื่อรักษาเท่านั้น ต้อหิน เกิดจากแรงดันที่เพิ่มขึ้นในตา จะมีอาการตาแดงและระคายเคือง ตาปูดโปน มีจุดสีฟ้าหรือแดงในบริเวณที่ตาขุ่น มีน้ำตา ขี้ตา และอาจสูญเสียการมองเห็น มีการรักษาด้วยยา และการผ่าตัดต่าง ๆ อาการตาแห้ง เกิดจากการที่สุนัขสร้างน้ำตาได้ไม่มากพอ จนระคายเคือง เกิดจากปัญหาด้านโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตัวเอง รักษาได้ด้วยน้ำตาเทียมและการผ่าตัด แผลที่กระจกตา เกิดจากหลายสาเหตุเช่นตาแห้ง โดนสัตว์อื่นทำร้าย อาการนี้ทำให้เจ็บปวดมาก มีการรักษาด้วยยาหยอดตา ม่านตาอักเสบ เกิดบริเวณเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลูกตา อาการนี้อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้เลย โรคนี้จะเป็นการรักษาตามอาการ และสุดท้าย กระจกตาเสื่อม เป็นโรคจากพันธุกรรม อาการนี้เกิดได้ 3 บริเวณของกระจกตาคือชั้นนอกสุด ชั้นกลาง และชั้นในสุด โดยสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

เลือก JOMO [โจโม่] อาหารสุนัขเกรดพรีเมียมให้ได้ดูแลดวงตาของน้องหมา ด้วยผสมจากยัคคา ซึ่งเป็นพืชธรรมชาติ มีส่วนช่วยในการลดคราบน้ำตา ลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อโรคหรือเชื้อราที่อาจจะทำให้น้องหมาป่วยได้ สั่งซื้อวันนี้ส่งฟรีทั่วประเทศไทย

ทำไมสุนัขถึงตาขุ่น?

สุนัขตาขุ่นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุเช่น อายุที่มากขึ้น อาการบาดเจ็บ โดนทำร้ายที่ตา โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ และกรรมพันธุ์ 

สุนัขตาเป็นฝ้า มองเห็นได้มั้ย?

สุนัขตาเป็นฝ้ามองเห็นได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรคที่เป็น บางโรคจะสามารถมองเห็นได้ปกติ แต่บางโรคหากทิ้งไว้นานจะสูญเสียการมองเห็นถาวร

สุนัขตาแห้งรักษาได้มั้ย?

สุนัขตาแห้งรักษาได้ โดยใช้ใช้น้ำตาเทียมและยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ และอาจมีการผ่าตัดในกรณีที่รุนแรงมากๆ เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำตา